คุณสามารถทานแมกนีเซียมได้หรือไม่

คุณสามารถทานแมกนีเซียมได้หรือไม่

แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่พบในอาหารและร่างกายตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับทุกอย่างในโลกใบนี้ การที่มีแมกนีเซียมมากเกินไปก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ภาวะที่มีแมกนีเซียมในเลือดสูงนั้นมักจะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังแม้ว่าจะพบได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนั้นอาจจะพบในผู้ที่รับประทานอาหารเสริมหรือยาที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม

บทบาทของแมกนีเซียม

แมกนีเซียมนั้นทำหน้าที่หลายอย่างในร่างกายมนุษย์ โดยจำเป็นต่อ

  • กระบวนการสร้างโปรตีน
  • การสร้างกระดูกที่แข็งแรง
  • การควบคุมความดันโลหิต
  • การรักษาสุขภาพของหัวใจ
  • การสร้างพลังงาน
  • การทำงานของเส้นประสาท
  • การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ผู้ใหญ่เพศชายที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นควรได้รับแมกนีเซียมวันละ 400-420 มิลลิกรัม ในขณะที่ผู้ใหญ่เพศหญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้นควรได้รับวันละ 310-320 มิลลิกรัม หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

หากคุณรับประทานแมกนีเซียมเสริม ขนาดสูงสุดที่จะสามารถรับประทานได้คือ 350 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามอาจมีการสั่งจ่ายแมกนีเซียมเพื่อป้องกันการปวดหัวไมเกรนซึ่งต้องใช้ขนาดที่มากกว่าวันละ 350 มิลลิกรัม ดังนั้นการรับประทานแมกนีเซียมในปริมาณดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

แหล่งของแมกนีเซียม

แมกนีเซียมนั้นพบได้ในอาหารหลายชนิดโดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง เช่นถั่ว ผักใบเขียวและธัญพืช ตัวอย่างอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงประกอบด้วย

  • แอลมอนด์
  • ผักโขม
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • ถั่วลิสง
  • ซีเรียลหรือขนมปังธัญพืช
  • นมถั่วเหลือง
  • ถั่วดำ
  • เนยถั่ว

แต่อาหารนั้นก็ไม่ใช่แหล่งเดียวที่คุณจะได้รับแมกนีเซียม คุณสามารถพบแมกนีเซียมได้ในอาหารเสริมและยาบางชนิด

ตัวอย่างเช่น แมกนีเซียมนั้นเป็นส่วนประกอบแรกในยาระบายบางชนิด ถึงแม้ว่ายาเหล่านี้นั้นมีแมกนีเซียมในปริมาณที่สูงแต่ก็มักจะไม่เป็นอันตรายเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ทำให้ร่างกายไม่ได้ดูดซึมแมกนีเซียมเข้าไปทั้งหมด แต่จะถูกขับออกจากร่างกายก่อนที่จะส่งผลต่อร่างกาย นอกจากนั้นยังพบในยาที่เกี่ยวกับกรด อาหารไม่ย่อยหรืออาการแสบร้อนกลางหน้าอก

ปัจจัยเสี่ยง

ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูงนั้นพบได้น้อยเนื่องจากไตนั้นทำหน้าที่ในการขับแมกนีเซียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ส่วนมากการมีแมกนีเซียมสูงนั้นจะพบในผู้ที่มีภาวะไตวายหลังจากที่รับประทานยาที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมเช่นยาระบายหรือยาลดกรด

ดังนั้นผู้ที่มีโรคไตจึงต้องระมัดระวังในการรับประทานแมกนีเซียมเสริมหรือยาที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม ผู้ที่มีโรคหัวใจและความผิดปกติในระบบทางอาหารนั้นก็จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติเช่นกัน


 

อาการของการมีแมกนีเซียมเกินขนาด

ประกอบด้วย

  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจหยุดเต้น

แพทย์สามารถให้ยา calcium gluconate ทางเส้นเลือดดำเพื่อช่วยรักษาการที่ได้รับแมกนีเซียมเกินขนาดได้ นอกจากนั้นการล้างไตอาจจะสามารถใช้เพื่อช่วยขับแมกนีเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้เช่นกัน

สรุป

โดยสรุปแล้วความเสี่ยงของการได้รับแมกนีเซียมเกินไปนั้นต่ำมากในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยบางกลุ่ม ในผู้ที่มีการทำงานของไตที่ลดลง ควรปรึกษาเรื่องความเสี่ยงจากการรับประทานยาที่มีแมกนีเซียมเป็นส่วนผสมและอาหารเสริมกับแพทย์เพื่อให้มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://hd.co.th/can-you-overdose-on-magnesium