เต้าเจี้ยวคืออะไร ทำจากอะไร มีกี่ประเภท และมีประโยชน์อย่างไร

เต้าเจี้ยวคืออะไร ทำจากอะไร มีกี่ประเภท และมีประโยชน์อย่างไร

“เต้าเจี้ยว” ถือเป็นเครื่องปรุงที่อยู่คู่ครัวไทยและหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะอาหารของชาวเอเชียมาอย่างช้านาน แต่จริงๆ แล้วเต้าเจี้ยวคืออะไร ทำจากอะไร มี่กี่ประเภท และมีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกาย มาดูข้อมูลกันเลยครับ

 

เต้าเจี้ยวคืออะไร ทำมาจากอะไร

จริง ๆ แล้วซีอิ๊วและเต้าเจี้ยวมีจุดตั้งต้นมาจากผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน นั่นคือ การนำถั่วเหลืองไปต้มหรือนึ่งจนสุกได้ที่ ปล่อยทิ้งไว้รอจนเย็น จากนั้นจะผสมกับแป้งสาลีและหัวเชื้อราบริสุทธิ์ (ชนิด Aspergillus Oryzae หรือ Koji Mold) ผึ่งให้แห้งตามระยะเวลาเหมาะสม

พอเชื้อราเติบโตได้ที่ วัตถุดิบทั้งหมดจะถูกนำไปผสมกับน้ำเกลือปิดฝาและตั้งตากแดดไว้อีกราว 2-3 เดือน น้ำจะกลายเป็นซีอิ๊ว ส่วนกากถั่วเหลืองที่เหลือจะกลายเป็นเต้าเจี้ยว ซึ่งต้องนำไปผ่านกระบวนการเพิ่มเติมก่อนบรรจุลงขวดให้ได้ใช้งานกัน

เมื่อรสชาติได้ที่แล้ว จะถูกนำไปประกอบอาหารหลายประเภท และด้วยสารอาหารสำคัญที่ได้จากถั่วเหลืองอย่างโปรตีน บ่อยครั้งจึงถูกนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์อย่างกลุ่มอาหารมังสวิรัติ, อาหารเจ รวมถึงการนำไปทำน้ำจิ้ม และอาหารจีนหลากประเภทอีกด้วย


 

ประเภทของเต้าเจี้ยว

ปกติแล้วเต้าเจี้ยวจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ เต้าเจี้ยวชนิดเม็ดและเต้าเจี้ยวชนิดบด ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

เต้าเจี้ยวเม็ด

มีลักษณะเป็นเม็ดถั่วเหลืองที่ผ่านกระบวนการตามที่กล่าวไว้ แต่ยังไม่ถูกบดละเอียด ผสมอยู่ในน้ำแบบเหลวใส เปลือกของถั่วเหลืองถูกลอกออกหมดเหลือไว้เพียงแค่เนื้อด้านใน

รสชาติไม่เข้มข้นมากนัก นิยมเอาไว้เป็นเครื่องปรุงสำหรับอาหารประเภทผัดผักหรือราดหน้า เพื่อให้ได้รสเค็มเล็กน้อยผสานกับกลิ่นหอม สามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย ๆ คือ

  • เต้าเจี้ยวขาว คือ การนำถั่วเหลืองมาหมักกับเกลือ เพื่อให้ดูดความเค็มเข้าไป แต่บางเจ้าอาจไม่ได้มีการใส่หัวเชื้อราจึงทำให้มองเห็นความขาวสะอาดของเม็ดถั่วเหลืองชัดเจน หรือถ้าใส่จะใช้เวลาหมักไม่นานเท่ากับเต้าเจี้ยวดำ
  • เต้าเจี้ยวดำ คือ ลักษณะของเต้าเจี้ยวที่ถูกนำไปหมักกับเชื้อราตามสูตรของแต่ละเจ้า ใช้เวลานานกว่าจนสีสันเข้มขึ้น รสชาติเข้มข้น กลิ่นหอมมากกว่าเต้าเจี้ยวขาว สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาด

เต้าเจี้ยวบด

นำถั่วเหลืองที่หมักเรียบร้อยแล้วไปบดละเอียดจนกลายเป็นก้อนเดียวกัน ส่งผลให้เหลือน้ำอยู่แค่เล็กน้อย มีความเหนียวข้นมากกว่าแบบเม็ด จึงมีรสชาติเค็มและเข้มข้นกว่าด้วย

นิยมนำไปใช้สำหรับทำส่วนผสมของน้ำจิ้ม เช่น น้ำจิ้มข้าวมันไก่, น้ำจิ้มเนื้อย่าง หมูย่างต่าง ๆ, น้ำจิ้มเป็ดพะโล้, น้ำจิ้มข้าวต้มปลา เป็นต้น และด้วยรสชาติที่มีความเค็มสูงแบบนี้จึงต้องกะประมาณในการใส่อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในอาหารนั้นมีเครื่องปรุงรสชาติเค็มอื่นอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา, ซีอิ๊ว, ซอสหอยนางรม, เกลือ

ซึ่งจริง ๆ คนทั่วไปมักจะรู้จักสูตรพิเศษที่ชื่อ เต้าเจี้ยวบดโม่อิมสี ผลิตจากเต้าเจี้ยวดำเมื่อหมักได้ที่ดีแล้วจึงนำไปบดจนละเอียดเป็นก้อน (แบบเดียวกับสูตรทั่วไป) นิยมใช้สำหรับการทำน้ำจิ้มและส่วนผสมของอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ต้องการรสชาติของน้ำมากกว่าเนื้อเต้าเจี้ยว


ประโยชน์ของเต้าเจี้ยว

วัตถุดิบหลักที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเต้าเจี้ยวคือ “ถั่วเหลือง” ซึ่งเป็นเมล็ดถั่วเหลืองแห้ง ดังนั้นสารอาหารที่พบได้มากสุดของเครื่องปรุงชนิดนี้ต้องยกให้กับ “โปรตีน” ที่มีคุณค่าใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำไปใช้กับเมนูอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์

 

ปรตีนมีประโยชน์ คือ ช่วยดูแลฟื้นฟูและลดความเสี่ยงการสูญเสียกล้ามเนื้อ และเพิ่มระดับการเผาผลาญไขมันในร่างกาย

นอกจากโปรตีนแล้วในเต้าเจี้ยวยังอัดแน่นไปด้วยกรดอะมิโนถึง 17 ชนิดที่ร่างกายต้องการ กรดไขมันจำเป็น เกลือแร่ ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม วิตามิน A, B1, B2, D, E, K และไนอะซีน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีส่วนในการช่วยบำรุงพร้อมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูก และยังบำรุงโลหิตให้เลือดลมเดินได้ดีอีกด้วยครับ

 

ข้อควรระวังในการกินเต้าเจี้ยว

แม้ว่าเต้าเจี้ยวจะถือเป็นเครื่องปรุงที่ได้จากการหมักผ่านกรรมวิธีธรรมชาติ สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากชนิด แต่อีกสิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้มองข้ามคือ ด้วยความเค็มของรสชาติ จึงต้องใส่กับอาหารชนิดนั้นๆ อย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้นร่างกายอาจได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินไป ซึ่งมักส่งผลเสียดังนี้

  • เกลือกับน้ำมีอาการคั่งในอวัยวะต่าง ๆ อาทิ แขน ขา ปอด หัวใจ จึงมักทำให้รู้สึกตัวบวม หอบเหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจไม่สะดวก กรณีผู้ป่วยโรคหัวใจอาจมีความเสี่ยงทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน
  • ไตทำงานหนัก ส่งผลให้เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติและป่วยด้วยโรคไตวาย
  • เพิ่มระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นกว่าปกติ ยิ่งใครมีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง ภาวะความดันโลหิตสูงมักส่งผลเสียกับร่างกาย นำมาซึ่งโรคร้าย อาทิ เส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น

เมื่อทำความรู้จักกับเต้าเจี้ยวไปเยอะขนาดนี้เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกคนเลือกนำมาปรุงอาหารได้อย่างอร่อยเหาะ แต่อย่าลืมทานในปริมาณเหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดีกันด้วยนะครับ


 

 

ข้อมูลจาก : www.bearducktravel.com และ www.rama.mahidol.ac.th