เคมีของน้ำหอม

เคมีของน้ำหอม

            มนุษย์รู้จักวิธีการชโลมร่างกายด้วยกลิ่นหอมมากว่าพันปีแล้ว โดยผู้คิดค้นน้ำหอมรายแรกของโลกเป็นหญิงผู้ดูแลในพระราชวังใน ยุคบาบิโลนเมโสโปเตเมียหรือราว 1,200 ปีก่อนคริสตกาล และจากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้นั้น เคยสงสัยหรือไม่ว่ามีอะไรที่อยู่เบื้องหลังความน่าสนใจของของเหลวใสซึ่งบรรจุอยู่ภายในขวดแก้วรูปทรงต่าง ๆ ที่นักเคมีจำนวนมากต่างคิดค้นเพื่อให้ได้กลิ่นที่ต้องการ

            โดยทั่วไปแล้วกลิ่นจะประกอบไปด้วยโมเลกุลที่กระตุ้นการรับกลิ่นผ่านตัวรับภายในจมูก กลิ่นของน้ำหอมก็เช่นกัน น้ำหอมบางชนิดสังเคราะห์ได้จากวัสดุทางธรรมชาติ ในขณะบางชนิดสังเคราะห์ขึ้นจากสารตั้งต้นในห้องปฏิบัติการ ซึ่งสารที่นำมาใช้เพื่อทำน้ำหอมนั้นสามารถนำไปใช้กับผิวหนัง เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง รวมถึงสเปรย์ปรับอากาศได้ ทั้งนี้จากความแตกต่างของอุณหภูมิ กลิ่นตัว และเคมีในร่างกาย (Body Chemistry) ของแต่ละบุคคล ทำให้น้ำหอมให้กลิ่นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป


 

น้ำหอม

            น้ำหอม (Perfume) เป็นสารละลายที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย สารประกอบที่ให้กลิ่นหอม แอลกอฮอล์ และน้ำ โดยเอเวอรี่ กิลเบิร์ต นักจิตวิทยาด้านประสาทสัมผัสท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมน้ำหอมกล่าวว่า กลิ่นจะต้องเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่เบาพอที่จะลอยอยู่ในอากาศได้ ทั้งนี้เซลล์ที่มีความสำคัญในการรับรู้กลิ่นก็คือ เซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่ภายในจมูก

 

            เมื่ออากาศไหลผ่านจมูก โมเลกุลของกลิ่นจะกระทบเข้ากับเซลล์ประสาทรับกลิ่น (Olfactory receptor cell) ที่แทรกอยู่ในเยื่อบุผิวบริเวณโพรงจมูกด้านบน โดยเซลล์ประสาทรับกลิ่นนั้นจะมีเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่มีลักษณะเป็นขน (Ciliated sensory neurons) ซึ่งคอยจับกับโมเลกุลของกลิ่นที่ผ่านเข้ามาทางรูจมูก และเมื่อมีการจับกันระหว่างโมเลกุลของกลิ่นและเซลล์ขนแล้ว จะเกิดการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าขึ้นภายในเซลล์ประสาทรับกลิ่น เพื่อส่งต่อกระแสประสาทไปยังสมองให้แปลผลของกลิ่นที่ได้รับ

 

น้ำหอมยังสามารถแบ่งประเภทตามลักษณะของโทนกลิ่นได้ดังนี้

  • Floral เป็นกลิ่นดอกไม้
  • Fruity เป็นกลิ่นของผลไม้ รวมทั้งกลิ่นของพืชตระกูลส้ม (citrus)
  • Green เป็นกลิ่นที่ให้ความสดชื่นของทุ่งหญ้าและใบไม้สีเขียว
  • Herbaceous เป็นกลิ่นของสมุนไพรหอมหลากหลายชนิด
  • Woody เป็นกลิ่นไอธรรมชาติและแมกไม้นานาพรรณ
  • Amber เป็นกลิ่นที่คล้ายกับกลิ่นของอำพัน
  • Animalic เป็นกลิ่นที่มีลักษณะคล้ายกับกลิ่นตัวหรือกลิ่นเนื้อหนังของมนุษย์
  • Musk เป็นกลิ่นของสารตั้งต้นที่ได้จากสัตว์จำพวกชะมด
  • Oriental เป็นกลิ่นของอำพันและเครื่องเทศต่างๆ


เคมีของน้ำหอม

           กลิ่นของน้ำหอมก็เหมือนกับการฟังเสียงดนตรีจากวงซิมโฟนีออร์เคสตราในครั้งเดียว บทเพลงที่ถูกบรรเลงร่วมกันอย่างลงตัวด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดก็เช่นเดียวกับการได้กลิ่นน้ำหอม ที่แม้ว่าจะมีความสับสนในครั้งแรกที่กลิ่นสัมผัสจมูก แต่โดยรวมแล้วก็เป็นกลิ่นที่น่าพึงพอใจ

            อย่างที่กล่าวข้างต้น ส่วนผสมหลักของน้ำหอมคือ น้ำมันหอมระเหย แอลกอฮอล์ และน้ำ สำหรับส่วนผสมอย่างแอลกอฮอล์และน้ำกลั่น (Distilled water) นั้นถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในการเจือจางน้ำมันหอม เพื่อให้น้ำหอมมีจุดแข็งของกลิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ Ethyl alcohol (C2H5OH) ในขณะที่น้ำมันหอม (Perfume oil) มีทั้งน้ำมันหอมระเหยที่ได้มาจากธรรมชาติ (Essential oils) และน้ำมันหอมที่สังเคราะห์ได้จากสารเคมีในห้องปฏิบัติการ (Synthetic oil) ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้ว น้ำหอมที่ถูกผลิตขึ้นในปัจจุบัน จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสังเคราะห์มากกว่า เนื่องด้วยมีการควบคุมคุณภาพและกระบวนการผลิตที่ดี อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอาจทำซ้ำได้ยาก  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเลียนแบบกลิ่นหอมจากธรรมชาติด้วยสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา


ที่มา : www.scimath.org 



 

           ทั้งนี้ทางบริษัท เฟลเวอร์ แอนด์ อะโรเมติก กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสารแต่งกลิ่นและรสชาติในอาหาร ภายใต้การควบคุมด้วยระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO22000:2005   มีผลิตภัณฑ์สารแต่งกลิ่นและรสชาติในอาหารที่หลากหลายแนว เหมาะสำหรับสินค้าในหลายๆประเภท เช่น ซอส เครื่องดื่ม  ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ และไอศกรีม  เป็นต้น

 

           หากลูกค้าท่านใด มีความประสงค์ที่จะให้ทางบริษัทฯ เราผลิตสารปรุงแต่งอาหาร ทั้งกลิ่นและรสชาติอาหารให้ สามารถติดต่อทางบริษัทฯของเราได้   ทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกท่าน หรืออุตสาหกรรมอาหารต่างๆ ที่สนใจหรือมองหาสารแต่งกลิ่นและรสชาติที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมเพื่อเสริมสร้างให้ความโดดเด่นด้านกลิ่นและรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์ของท่าน