ปฏิทินกินตามกาล ของอร่อยห้ามพลาดประจำฤดู "มกราคม - มิถุนายน"

ปฏิทินกินตามกาล ของอร่อยห้ามพลาดประจำฤดูมกราคม - มิถุนายน"

ปฏิทินรวมของอร่อยประจำฤดูกาล เดือนไหน ควรกินอะไร จดไว้ให้ทุกคนได้กินดี


      พืชผัก ผลไม้ สัตว์ตามธรรมชาติล้วนมีฤดูกาลเกิด เติบโต และออกดอกให้ผล หรือแม้พืชผลบางชนิดที่อาจหากินได้ตลอดทั้งปี แต่หากจะกินให้อร่อยสุดก็ต้องกินให้ถูกฤดูกาล คนสมัยก่อนจึงรู้ว่าเมื่อเข้าฤดูหนาวจะได้กินข้าวใหม่ ปลาในฤดูนี้จะมีรสมันเป็นพิเศษ เข้าฤดูร้อนจะได้กินมะม่วงสุกหอมหวาน แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองความต้องการ พืชผลหลายอย่างจึงมีให้กินทุกฤดู จนเราไม่รู้แล้วว่า ฤดูกาลไหนควรกินอะไร กินอาหารตามฤดูกาลนอกจากจะได้ความอร่อย เรายังปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ เพราะเป็นพืชผลที่เติบโตตามธรรมชาติ ไม่มียาเร่งดก เร่งโต เร่งออกผลนอกฤดูกาล อีกทั้งยังราคาย่อมเยาเพราะให้ผลผลิตมาก


มกราคม           

     สะเดา เริ่มต้นปีด้วยผักรสมันขมกินเป็นยาอย่าง ‘สะเดา’ ที่คนโบร่ำโบราณจับรสขมไปกินคู่น้ำปลาหวาน สะเดาเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ใบอ่อนเก็บกินกับน้ำพริกได้ตั้งแต่ต้นฤดูหนาวราวเดือนพฤศจิกายน  เรื่อยมาจนถึงปลายฤดูหนาวราวมกราคม-กุมภาพันธุ์ เป็นช่วงที่ออกดอกมากสุด ดอกสะเดาให้รสขมมันหวานนิดๆ กินอร่อย โดยเฉพาะเมนูสะเดาน้ำปลาหวาน ที่มักกินกับกุ้งย่าง ปลาดุกย่างในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูปลามัน กุ้งมันเนื้อแน่นได้รสอร่อยสุด 

     ชมพู่มะเหมี่ยว ผลไม้ที่หากินได้เฉพาะฤดูกาล เป็นผลไม้บ้านที่ปลูกได้ทั่วพื้นที่ประเทศไทย แต่หากินได้ไม่ง่ายนัก ชมพู่มะเหมี่ยว หรือมะเหมี่ยวผลสุกมีสีแดงเข้ม แดงเลือดหมู เนื้อขาวหนานุ่มฟู รสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นอกจากความสดชื่นยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน ฯลฯ 

     ปลาอินทรี ฤดูกาลตกปลาอินทรีของชาวประมงพื้นบ้านทะเลใต้ เริ่มต้นกันตั้งแต่มกราคมเรื่อยไปจนถึงพฤษภาคม เป็นช่วงที่ปลาอินทรีชุกชมและตัวโตเต็มวัยที่ 100 – 200 กิโลกรัม ส่วนภาคตะวันออกไล่ตั้งแต่ระยอง จันทบุรีและตราด จะเริ่มจับปลาอินทรีกันตั้งแต่ปลายฝนช่วงปลายเดือนตุลาคมและชุกชุมมากในช่วงต้นปีจนถึงกุมภาพันธ์ ปลาอินทรีสดๆ เนื้อแน่น มันอร่อย และหากินได้มากสุดจึงเริ่มกันตั้งแต่ต้นปี


กุมภาพันธ์

     มะยงชิด สิ้นสุดฤดูหนาวและเตรียมเข้าสู่ฤดูร้อน ก็มีผลไม้สีสันสดใสเป็นสัญลักษณ์ของฤดูกาลอย่างมะยงชิดออกมาต้อนรับ มะยงชิดผลโต เนื้อเปรี้ยวอมหวานนั้นให้ความสดชื่น กินสด นำไปทำลอยแก้ว หรือช่วงที่ออกพีคมากๆ ราวเดือนมีนาคมก่อนจะสิ้นสุดฤดูกาลในเดือนเมษายนของทุกปี จะได้เห็นเมนูมะยงชิดฟีเวอร์อย่างเค้กมะยงชิด ไอศกรีมมะยงชิด 

     ใบเหลียง หรือที่คนใต้เรียกผักเหมียง เป็นผักพื้นบ้านภาคใต้ที่เริ่มหากินได้ในช่วงนี้ มีต้นขนาดใหญ่ ใบและยอดกินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือผักเหนาะเคียงขนมจีน แกงเลียง แกงกะทิ และที่ถูกอกถูกใจคนทุกภูมิภาค ทุกวัย คือเมนูง่ายๆ อย่างใบเหลียงผัดไข่ ผัดให้สลดแล้วใบนุ่มหอมหวานอ่อนๆ  

     ตาลเฉาะ หรือลูกตาลอ่อน ช่วงปลายกุมภาพันธ์เป็นต้นฤดูกาลเก็บลูกตาลโตลด มาเฉาะกินเนื้ออ่อนๆ เรียกว่าลูกตาลอ่อนหรือตาลเฉาะ มีเนื้อนุ่ม ละมุน รสหวานหอมของลูกตาลอ่อน ต้นตาลโตนดจะออกผลอ่อนตั้งแต่ต้นปีจนสิ้นปลายฤดูที่เดือนเมษายน นำมาทำลอยแก้วกินดับร้อนได้ดี 


มีนาคม

     ไข่มดแดง เข้าสู่ฤดูร้อนแล้งและว่างเว้นจากการเพาะปลูก ก็เป็นฤดูทองของไข่มดแดง ตั้งแต่มีนาคม–  เมษายน ใครที่มีเทือกสวนก็จะชวนกันไปแหย่ไข่มดแดงที่สร้างรังด้วยใบไม้เป็นกลุ่มก้อนน้อยใหญ่ตามยอดกิ่ง บ้างก็ชวนกันไปหาแหย่ไข่มดแดงตามป่า เอามาทำยำไข่มดแดง แกงผักหวานไข่มดแดง ทอดกับไข่ ฯลฯ 

     ผักหวานป่า เรียกว่ามาคู่กันกับไข่มดแดง เพราะแตกยอดอ่อนรสหวานอร่อยให้ได้เก็บกันก็ช่วงนี้ถึงเดือนเมษายน ผักหวานป่านั้นเป็นคนละชนิดกับผักหวานบ้าน มักขึ้นในป่าเบญจพรรณ พื้นดินแห้งปนทราย หากินได้เฉพาะฤดูกาลนี้ หากเดินตลาดแล้วเริ่มเห็นไข่มดแดงวางขายเป็นล่ำเป็นสัน ข้างๆ กันก็ต้องมีผักหวานป่าวางขายจนกลายเป็นธรรมเนียม ‘แกงเลียงผักหวานป่า’ จึงเป็นเมนูโอชะแห่งฤดูกาลไปโดยปริยาย 

     มะปรางหวาน ช่วงที่มะยงชิดเริ่มทยอยออกผล ไล่หลังกันมาติดๆ ก็เป็นมะปรางหวานที่หน้าตาอาจคลับคล้ายคลับคลาจนหลายคนอาจสงสัยว่ามันต่างกันยังไง จริงๆ แล้วก็เป็นพี่น้องร่วมสายพันธุ์มะปรางเช่นเดียวกัน ความต่างคือมะปรางหวาน` ผลเล็ก เปลือกสีเหลืองนวล เม็ดใหญ่ รสชาติหวานหอมอ่อนๆ หรือหวานจืด แต่ก็ให้ความสดชื่นไม่แพ้กัน กินสดหรือทำมะปรางริ้วลอยแก้วก็อร่อย

 

เมษายน

     ลูกหว้า ตั้งแต่ปลายมีนายนจนถึงเมษาเรื่อยไปจนมิถุนายน เรียกว่าเป็นฤดูกาลของราชา –  ราชินีผลไม้อย่าง ทุเรียน มังคุด ชนิดที่ว่าไม่ต้องตักเตือนกันแล้วว่าเข้าสู่ฤดูกาล เพราะวางขายกันคึกคัก ผลไม้ที่เราอยากใส่ไว้คอยเตือนในปฏิทินจึงเป็น ‘ลูกหว้า’ ผลไม้ที่หนึ่งปีจะมาแวะเวียนกันได้เห็นสักครั้ง ถ้าบางปีออกผลไม่มากก็เหมือนไม่ได้เห็นกันเลย ต้นหว้าเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ พบมากแถบเพชรบุรีและภาคใต้โดยเฉพาะอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ผลสุกสีม่วงดำ รสชาติหวานฝาดนิดๆ กินสด บางทีจะเห็นรถเข็นขายผลไม้นำมาคลุกพริกเกลือเป็นถาดๆ ตักแบ่งขาย รสหวานๆ ฝาดๆ ตัดกับรสเค็มเผ็ดของพริกเกลือกินเพลิน สีของลูกหว้านี่ติดปากม่วง ฟันม่วงกันเลย ระยะเวลาเก็บผลช่วงสั้นๆ แค่ปลายเดือนเมษายน –  พฤษภาคม จึงนำไปแปรรูปให้เก็บได้นานเป็นไวน์ลูกหว้า น้ำลูกหว้า 

     น้ำผึ้งเดือนห้า นับตามปฏิทินจันทรคติแบบไทยหมายถึงปลายเดือนมีนาคม – เมษายน ถือว่าเป็นสุดยอดน้ำผึ้งที่คุณภาพสมบูรณ์ที่สุดเพราะไม่มีน้ำฝนมาเจือจางความเข้มข้น รสจึงหวาน หอม โดยเฉพาะน้ำผึ้งป่าเดือนห้าที่เต็มเป็นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทำให้น้ำหวานที่ผึ้งเก็บจากเกสรนานาพันธุ์นั้นปรุงแต่งรสน้ำผึ้งให้มีมิติซับซ้อนมากขึ้น นอกจากปรุงอาหารในตำราแพทย์แผนโบราณยังนิยมใช้น้ำผึ้งเดือนห้าปรุงยาด้วย 

     หอยนางรม อีกสิ่งที่มีให้กินตลอดทั้งปี แต่กินให้อร่อยที่สุดและเป็นช่วงที่หอยนางรมสมบูรณ์คือเดือนเมษายน 

ข้อควรระวังคือต้องเลือกหอยนางรมสดใหม่ ฝาหอยปิดสนิท เนื้อติดกับฝา หากเป็นหอยนางรมแกะแช่น้ำมาแล้ว ให้สังเกตน้ำต้องใส ไม่ขุ่น และไม่ควรกินหอยนางรมช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม เพราะเป็นช่วงว่างไข่และหอยนางรมเปลี่ยนเพศ ทำให้อยู่ในช่วงไม่สมบูรณ์ 


 

พฤษภาคม

 

     เห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ย่างเข้าหน้าฝนในฤดูแห่งการเพาะปลูก ชาวนาเริ่มปลูกข้าวนาปี ระหว่างที่รอพืชผลเพาะปลูกงอกงาม ธรรมชาติก็จัดสรรพืชผลที่ขึ้นเองตามฤดูกาลมาให้เช่นเห็ดเผาะ (ภาษาอีสาน) หรือ เห็ดถอบ (ภาษาเหนือ) เห็ดเผาะ หาได้ในป่าเต็งเร็ง บริเวณดินโคกคือลักษณะเป็นดินเหนียวปนทราย เห็ดอ่อนๆ นั้นอร่อยสุด มีสีน้ำตาล ข้างในยังเป็นขอบขาวกัดแล้วแตงในปากดัง เป๊าะ เผาะ รสหวาน เคี้ยวแล้วกรอบมัน นิยมทำแกงเห็ดเผาะ คั่วเห็ดเผาะ 

 

     สะตอ สะตอรสหวานมัน กลิ่นเขียวเป็นเอกลักษณ์วัดใจคนกินชนิดที่ว่าไม่ชอบก็เกลียดกันไปเลย สำหรับใครที่หลงรักสะตอ ให้รอซื้อสะตอในเดือนพฤษภาคมเพราะเป็นช่วงที่อุดมสมบูรณ์และให้ผลผลิตมากสุด สะตอจะมีรสหวานมัน กลิ่นไม่แรงและราคาย่อมเยากว่าสะตอนอกฤดูอยู่มาก 

 

     หน่อไม้ ผืนดินฉ่ำฝนเรียกว่าเป็นฤดูหน่องอกงาม เราจะได้เห็นหน่อไม้หลายสายพันธุ์ให้เลือกอร่อยกันก็ฤดูนี้ อย่างหน่อบงหวาน หรือหน่อหวาน ให้รสหวานเนื้อกรอบพอดี เหมาะต้มกับกระดูกหมูซดน้ำหวานๆ ของหน่อไม้ หน่อไม้ไร่หรือหน่อไร่ หัวเล็กๆ  เอามาทำซุบหน่อไม้ ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ไร่ แกงเปรอะ 

 

     ปูม้า สำหรับคนที่ชอบกินปูไข่หรือมันปูแน่นๆ ให้รอกินฤดูหนาว แต่กับคนที่หลงรักความหวานของเนื้อปูม้า ให้เลือกกินปูม้าเดือนพฤษภาคม เพราะมีเนื้อแน่นและรสหวานที่สุด เป็นช่วงลมทะเลสงบและสัตว์ทะเลรวมทั้งปูม้าอุดมสมบูรณ์ 


 

มิถุนายน

     เห็ดโคน หรือเห็ดปลวกปี เห็ดโคนหรือเรียกอีกชื่อว่าเห็ดปลวก ตามลักษณะการเกิดและเจริญเติบโตได้ดีบริเวณจอมปลวก และในพื้นที่ปกคลุมด้วยเศษไม้ ใบไม้ โดยเริ่มออกดอกให้เก็บชุดแรกราวเดือนมิถุนายน เรียกว่า ‘เห็ดปลวกปี’ และอีกครั้งราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงน้ำหลาก เห็ดโคนมีดอกตูมเป็นหมวกแหลมขนาดเล็ก ดอกบานเป็นปีกหมวก รสรสชาติหวาน อูมามิตามธรรมชาติ นำมาย่างกิน หรือคั่วกับน้ำปลา ต้มยำ ทำข้าวต้มเห็ดโคนซดอุ่นๆ ก็อร่อย 

     ปลาจะละเม็ด หนึ่งในอาหารทะเลที่มักจับได้ในหน้านี้ก็คือ ปลาจะละเม็ดปลาที่พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ปลาจะละเม็ดมีรสชาติหวาน เนื้อแน่น จึงเป็นที่นิยมกินกันมาก และการกินปลาจะละเม็ดในช่วงหน้าฝน ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมแบบนี้นี่เอง คือช่วงที่ปลาโตสมบูรณ์เต็มที่ รสชาติก็อร่อยเต็มที่เช่นกัน

     ผักหวานบ้าน หมดจากผักหวานป่าก็เข้าสู่ฤดูผักหวานบ้าน ที่หน้าตาและรสชาติยอดใบกรอบหวานคล้ายกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด ผักหวานบ้านนั้นหากินได้ตลอดทั้งปี แต่แตกยอดอ่อนงอกงามให้เก็บกินได้มากสุดก็ช่วงนี้ 


ที่มา/อ้างอิง

www.krua.co